แมวดาว, แมวแกว

Leopard cat

Prionailurus bengalensis

ลักษณะทั่วไป

แมวดาวเป็นแมวป่าที่พบได้ง่ายที่สุดในเมืองไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดเล็กใกล้เคียงแมวบ้าน แต่ขายาวกว่าเล็กน้อย มีลายจุดทั่วทั้งตัว สีลำตัวต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ มีตั้งแต่สีเทาซีด น้ำตาล เหลืองทอง จนถึงสีแดง ด้านใต้ลำตัวสีขาว จุดข้างลำตัวเป็นจุดทึบหรือเป็นดอก ส่วนบริเวณขาและหางเป็นจุดทึบ มีเส้นดำหลายเส้นพาดขนานกันตั้งแต่หน้าผากจนถึงท้ายทอยและเริ่มขาดท่อนกลายเป็นจุดรี ๆ ที่บริเวณหัวไหล่ บางตัวมีเส้นยาวนี้พาดยาวตลอดแนวสันหลัง มีแถบสีขาว แถบและแถบดำ แถบพาดจากหัวตาไปที่หู ขนมีความยาวต่างกันตามเขตที่อยู่ พันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางเหนือจะมีขนยาวและแน่นกว่าพันธุ์ที่อยู่ทางใต้ หัวค่อนข้างเล็ก กรวยปากแคบและสั้น คางสีขาว มีแต้มสีขาวที่มีแถบสีดำแคบ ๆ ล้อมรอบที่บริเวณแก้ม ม่านตาลึก หูยาวและมน ขอบหูดำและกลางหลังหูสีขาว หางด้านบนมีลายจุด ปลายหางสีเนื้อ ส่วนใกล้ปลายหางเป็นปล้องที่ไม่ชัดนัก แมวดาวตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย

แมวดาว (Prionailurus bengalensisถ่ายที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง (ภาพโดย สุพจน์ จันทะดวง)


ชื่อเรียกแมวดาวในภาษาอื่น
ผรั่งเศสchat léopard du Bengale, chat de chine
เยอรมันbengalkatze
สเปนgato bengalí, gato de Bangala
บังกลาเทศchita biral, ban bilar
จีน豹猫
ดารี (อัฟกานิสถาน)psk jangley
อินโดนีเซียkucing batu, kucing congkok
อินเดีย, ปากีสถานchita billi
คะฉิ่นnam laniao
กันนาดา (อินเดีย)huli bekku 
กะเหรี่ยง, Talainkla hla 
ลาวsua meo, sua pa, sua nak 
มราฐี, Ghats (อินเดีย)wagati
มาเลเซียkucing batu, rimau akar
พม่าkye thit, thit kyuk, kya gyuk
ฟิลิปปินส์maral, tamaral
รัสเซียAmurskii kot, bengalskaya koshka
ฉานhen wap


ชนิดย่อย

ด้วยเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง ทำให้แมวดาวมีชนิดย่อยหลายชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีขนาด สี และลายต่างกันมาก จนบางชนิดย่อยถูกจำแนกให้เป็นแมวป่าอีกชนิดหนึ่งไปเลย เช่นกรณีของแมวอิริโอะโมะเตะ (Iriomote Cat) ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นแมวดาวพันธุ์ Prionailurus bengalensis iriomotensis แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนจัดให้เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งอยู่ในสกุล Prionailurus นอกจากนี้ยังมีชนิดย่อยอื่นที่มีปัญหาทำนองเดียวกันคือแมวสึชิมะที่อาศัยอยู่ในเกาะสึชิมาของญี่ปุ่น และแมวอามูร์ (P.b. euptilurusที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย 
ชนิดย่อยที่มีขนาดเล็กที่สุดพบในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนชนิดย่อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดพบในตอนเหนือของทวีป แมวดาวในรัสเซียอาจหนักได้ถึง กิโลกรัม


ชนิดย่อยเขตกระจายพันธุ์
P.b.alleniเกาะไหหลำ
P.b.bengalensisอินเดีย อินโดจีน 
P.b.borneoensisบอร์เนียว
P.b.chinensisจีน
P.b.euptilurusเกาหลี ไซบีเรียตะวันออก
P.b.horsfieldiแคชเมียร์ใต้
P.b.javanensisชวา บาหลี
P.b.sumatranusสุมาตรา
P.b.trevelyniแคชเมียร์เหนือ


เขตกระจายพันธุ์ของแมวดาว 


แมวดาวเป็นแมวป่าในเอเชียที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดชนิดหนึ่ง พบใน 21 ประเทศตั้งแต่ตะวันตกของปากีสถาน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงตะวันออกของเกาะชวา บอร์เนียว และกลางหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเหนือสุดถึงแมนจูเรีย

แมวดาวอาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด เช่นป่าละเมาะ ที่ราบกึ่งทะเลทราย ป่าชั้นสอง ป่าทึบ และพื้นที่เพาะปลูก ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมักพบตามป่าสน โดยเฉพาะป่าเปิดที่มีไม้ล้มจำนวนมาก แมวดาวค่อนข้างชอบป่าชั้นสองมากกว่าป่าดึกดำบรรพ์ ทนการรบกวนจากมนุษย์ได้ดี จึงพบได้แม้ในป่าที่มีการทำไม้ บริเวณใกล้หมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรอย่างสวนยาง สวนปาล์ม หรือไร่กาแฟ ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ชอบอาศัยในพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมหนาเกินกว่า 10 เซนติเมตร และไม่พบในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ที่หนาวเย็น และไม่ชอบที่ ๆ แห้งแล้งมาก ๆ อยู่ได้ตั้งแต่ที่ราบต่ำจนถึงบนเทือกเขาหิมาลัยที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร 

แมวดาวพบได้แม้ในเกาะที่อยู่ห่างไกล เช่นที่เกาะเชจู และเกาะเล็ก ๆ ของเกาหลีใต้ เกาะสึชิมะของญี่ปุ่น และเกาะเล็ก ๆ ของสุมาตรา ไทย เวียดนาม จีน และอินเดีย แมวดาวที่อาศัยอยู่ในเกาะเหล่านี้มักมีสีคล้ำกว่าที่อื่น 

ลูกแมวดาว  (ภาพโดย ชุติมา นุ่นมัน)


ในเกาะสึชิมะของญี่ปุ่น แมวดาวมีพื้นที่หากิน 0.83 ตารางกิโลเมตร ส่วนในป่าที่แห้งแล้งในเมืองไทย มีพื้นที่หากินระหว่าง 1.5-7.5 ตารางกิโลเมตร แต่จะใช้พื้นที่หากินหลักอยู่ระหว่าง 0.7-2 ตารางกิโลเมตร

อุปนิสัย


แมวดาวหากินได้ทั้งบนดินและบนต้นไม้ ว่ายน้ำเก่งมาก ไม่ค่อยกลัวมนุษย์ จึงพบได้บ่อยใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านในบางพื้นที่ก็เลี้ยงแมวดาวไว้เพื่อจับหนู เช่นเดียวกับ แมวชอฟรัว (Geoffroy's Cat) ในอเมริกาใต้ อาหารหลักของแมวดาวคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ นอกจากนี้ยังกิน นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และแมลง และเคยมีผู้พบเห็นแมวดาวกินซากสัตว์ด้วย

แมวดาวปีนต้นไม้ได้เก่ง ในประเทศไทย เคยพบแมวดาวพักผ่อนอยู่บนต้นไม้สูงถึงกว่า 20 เมตร มีเรื่องเล่าว่าแมวดาวจับนกโดยการทิ้งตัวลงมาจับจากข้างบน

แมวดาวหากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบตอนกลางวันได้บ่อย จากการติดตามแมวดาวด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย ตัว พบว่ามีการออกหากินเวลากลางวันบ่อยครั้ง และแต่ละตัวมีช่วงเวลาหากินประจำต่างกันไป

ชีววิทยา

แม่แมวดาวตั้งท้องนานประมาณ 56-70 วัน ส่วนใหญ่ออกลูก 2-3 ตัว แต่เคยพบกรณีที่มีถึง ตัว เลี้ยงลูกในโพรงไม้ หลืบหินหรือถ้ำ น้ำหนักแรกเกิด 80 กรัม ตาเปิดเมื่ออายุได้ 5-15 วัน แมวดาวที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือมีฤดูผสมพันธุ์ปีละครั้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมและออกลูกในเดือนพฤษภาคม แต่แมวดาวในเขตใต้จะออกลูกได้ตลอดปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 8-18 เดือน แมวดาวในธรรมชาติมีอายุขัยประมาณ 10-15 ปี ส่วนแมวดาวในสถานที่เพาะเลี้ยงมีอายุกว่า 15 ปี แต่ฟันจะหักหายไปหมดเมื่ออายุ 8-10 ปี

ภัยที่คุกคาม

แมวดาวเป็นแมวป่าที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเสื่อมโทรมของป่าได้ดี หากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ ในเอเชียแล้วก็เป็นรองเพียงแมวป่า (เสือกระต่ายเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแมวดาวจะไม่ถูกคุกคามเลย ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนประชากรลดลงในหลายพื้นที่โดยเฉพาะตามเกาะต่าง ๆ จนต้องมีศูนย์เพาะพันธุ์เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นที่เกาะสึชิมะในญี่ปุ่น และที่เกาะ Negros ในฟิลิปปินส์

ในประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางเขตกระจายพันธุ์ของแมวดาว มีล่าและค้าขายอวัยวะสัตว์ป่ากันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนหน้าปี 2527 มีการส่งออกหนังแมวดาวเฉลี่ยปีละประมาณ 200,000 ผืน แต่หลังจากนั้นจนถึงปี 2532 ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาก จากการสำรวจคลังเก็บขนสัตว์ของบริษัทขนสัตว์ยักษ์ใหญ่ของจีนในปี 2532 พบว่ามีมากกว่า 800,000 ผืน ในช่วงปี 2498-2524 มีการล่าเฉลี่ย 150,000 ตัวต่อปี ส่วนในปี 2528-2531 คาดว่ามีมากถึง 400,000 ตัวต่อปี 

เดิมยุโรปเคยเป็นตลาดหลักของจีนในการส่งออกหนังแมวดาว แต่หลังจากมีการห้ามการนำเข้าในปี 2531 ตลาดหลักของจีนก็เปลี่ยนมาเป็นญี่ปุ่นแทน เฉพาะปี 2532 มีการส่งออกหนังแมวดาวจากจีนไปญี่ปุ่น 50,000 ผืน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการนำเขาเนื้อแมวดาวเพื่อทำเป็นอาหารด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นมีคนนิยมกินเนื้อแมวดาวมาก 

เมื่อไม่นานมานี้ เคราะห์กรรมของแมวดาวสัญชาติจีนก็ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เมื่อรัฐสภาจีนได้มีการเสนอให้เพิ่มโควตาส่งออกหนังแมวดาวมากขึ้น 500% เพื่อเพิ่มผลกำไรให้ประเทศ

มีภัยที่คุกคามแมวดาวอีกอย่างหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน เป็นภัยจากคนที่บอกว่าเป็นคนรักแมว ความต้องการแมวบ้านพันธุ์ใหม่ ๆ ของคนนิยมเลี้ยงแมว ทำให้นักผสมพันธุ์แมวบางกลุ่มลองนำแมวดาวมาผสมกับแมวบ้านหลายพันธุ์เพื่อให้เกิดลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่สวยงามและราคาดี เช่น แมวเบงกอล และแมวซาฟารี การกระทำเช่นนี้เป็นการทำให้พันธุกรรมของแมวดาวอ่อนแอลง และตัดโอกาสแมวดาววัยเจริญพันธุ์ที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกแมวดาวทายาทเผ่าพันธุ์ตนเองลงไป

สถานภาพ

ปัจจุบันสถานภาพของแมวดาวยังถือว่าปลอดภัยหากเทียบกับแมวและเสือชนิดอื่น ๆ แต่พวกที่อาศัยอยู่ในเกาะต่าง ๆ กำลังลำบาก แมวดาวในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งสถานการณ์ป่าไม้จัดว่าย่ำแย่ที่สุดในเอเชียเขตร้อนอาจเป็นกลุ่มที่เผชิญเคราะห์กรรมหนักที่สุด เกาะเกือบทั้งหมดในประเทศนี้ที่เคยมีแมวดาวอยู่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนที่เกาะสึชิมะซึ่งเคยมีแมวดาวอยู่ 200-300 ตัวในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยตัว

แม้จำนวนประชากรลดลง ไอยูซีเอ็นยังจัดสถานภาพของแมวดาวไว้ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (LC) ไซเตสจัดให้แมวดาวอยู่ในบัญชีหมายเลข ยกเว้นพันธุ์ F.b. bengalensis อยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ประเทศที่ห้ามล่า

บังกลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย (ยกเว้นซาบาห์) พม่า เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย ไทย ไต้หวัน

ประเทศที่ควบคุมการล่าและการซื้อขาย

เกาหลีใต้ ลาว สิงคโปร์

ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์

ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

ไม่มีข้อมูล

อัฟกานิสถาน กัมพูชา เกาหลีเหนือ

Prionailurus bengalensis
ชื่อไทยแมวดาว, แมวแกว
ชื่อวิทยาศาสตร์Prionailurus bengalensis
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลPrionailurus

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/lepcat.htm
  • http://www.ckwri.tamuk.edu/feline/leopard_cat.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/bengal01.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/lcat.html

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 29 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 26 มี.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai