แมวทราย

sand cat, sand dune cat

Felis margarita

ลักษณะทั่วไป


แมวทราย (ภาพจาก wikipedia commons) 


แมวทรายเป็นที่มีขนาดเล็กที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ตัวผู้ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักเพียง 2.1-3.4 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียหนัก 1.4-3.1 กิโลกรัม

ลำตัวสีน้ำตาลซีดจนถึงเทาอ่อน ขนแน่น หนานุ่ม บริเวณหลังเข้มขึ้นเล็กน้อย หน้าท้องซีดจาง มีลายริ้วจาง ๆ ตามลำตัวและขา มีเส้นสีน้ำตาลแดงพาดที่แก้มตั้งแต่หางตา ครึ่งล่างของหน้าและหน้าอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ใบหูใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายเรียว สีน้ำตาลอมแดง ปลายหูสีดำ ใบหูอยู่ห่างกันและค่อนมาทางข้างหัว ปลายหางมีปล้องบาง ๆ หลายปล้อง ปลายหางสีดำ ใบหน้ากว้าง ดวงตาใหญ่ อุ้งตีนมีขนยาวหนาแน่นปกคลุม 

แมวทรายเป็นแมวที่เกิดมาเพื่ออยู่ในทะเลทรายอย่างแท้จริง ขนที่คลุมอุ้งตีนช่วยป้องกันความร้อนจากพื้นดินและช่วยเก็บเสียงขณะเดินบนพื้นผิวที่หยาบร่วน  เมื่อเดินบนทรายจะแทบไม่ปรากฏรอยตีนเลย ประสาทหูไวมาก เหมาะสำหรับการหาเหยื่อในพื้นที่ที่เหยื่อหายาก คาดว่าแมวทรายได้ยินเสียงอัลตราโซนิกจากเหยื่อที่อยู่ใต้ดินได้เช่นเดียวกับเซอร์วัล

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของแมวทราย 



แมวทรายอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารอย่างที่สุด พื้นที่ที่เต็มไปด้วยหินเช่นในอาหรับ ทะเลทรายซาฮารา ตั้งแต่โมรอกโก มอริเตเนีย มาจนถึงอียิปต์และซูดาน รวมถึงเอเชียกลางและปากีสถาน 

ชนิดย่อยของแมวทราย

F.m. margarita แอฟริกาเหนือ
F.m.harrisoni – คาบสมุทรอาหรับ
F.m.thinobia – เติร์กเมนิสถาน ทางตะวันตกของทะเลสาบแคสเปียน
F.m.scheffeli – ปากีสถาน


อุปนิสัย


แมวทรายปีนป่ายและกระโดดไม่เก่ง แต่เป็นยอดนักขุด ทักษะการขุดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีพในสถานที่ของแมวชนิดนี้ เพราะต้องใช้ในการขุดโพรงเพื่อพักผ่อนและหาเหยื่อ อุ้งเล็บไม่คมมากนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะการอาศัยในทะเลทรายจึงไม่มีโอกาสได้ฝนเล็บบ่อยนัก เวลาเดินบนพื้นที่โล่ง จะเดินย่องต่ำ ๆ หูที่ใหญ่ช่วยในการค้นหาเสียงจากความเคลื่อนไหวอันแผ่วเบาได้เป็นอย่างดี เหยื่อของแมวทรายได้แก่ เจอร์บิล เจอร์บัว โวล กระต่ายป่า นก สัตว์เลื้อยคลาน และแมลง ศัตรูตามธรรมชาติได้แก่งูพิษ หมาจิ้งจอก และนกเค้าขนาดใหญ่

จากคำบอกเล่าของชาวเผ่าเร่ร่อนในซาฮารา แมวทรายเชี่ยวชาญด้านการจับงูมาก โดยเฉพาะงูฮอร์นไวเปอร์และแซนด์ไวเปอร์ มันจะตบลงบนหัวอย่างรวดเร็วก่อนเข้าขย้ำเข้าที่คอ และยังพบว่าเมื่อกินเหยื่อไม่หมด จะเอาทรายกลบเหยื่อไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมากินภายหลัง 

แมวทรายหากินเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในโพรงตื้น ๆ ที่ขุดไว้ตามเนินทราย ในดงไม้แคระ หรืออาจนอนอยู่ไม่ไกลจากปากโพรง โดยนอนหงายหลังซึ่งเป็นท่านอนที่ระบายความร้อนได้ดี แมวทรายแต่ละตัวอาจยืมรังใช้กันได้ เมื่อตกค่ำ แมวทรายจะซุ่มสังเกตการณ์อยู่ปากโพรงประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะออกจากโพรงไป แต่ละคืนแมวทรายจะเดินทางเฉลี่ย 5.4 กิโลเมตร เมื่อกลับมาที่รังในตอนรุ่งสางก็จะมาซุ่มสังเกตการณ์ที่ปากโพรงอีกครั้งก่อนจะเข้ารังนอน 

จากการสำรวจในอิสราเอล พบว่าแมวทรายตัวผู้ตัวหนึ่งใช้พื้นที่หากินประมาณ 16 ตารางกิโลเมตร ส่วนอีกตัวหนึ่งในซาอุดิอาระเบียใช้พื้นที่ตลอดทั้งปีกว้างถึง 40 ตารางกิโลเมตร

แมวทรายเปล่งเสียงได้หลายแบบ รวมถึงเสียงครางแบบแมวบ้าน พฤติกรรมบางอย่างคล้ายแมวบ้าน เช่นท่าขุดดิน และชอบเลียขนตัวเอง 

ความสามารถสุดพิสดารอีกอย่างหนึ่งก็คือ แมวทรายดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องดื่มน้ำเลยก็ได้ ร่างกายได้รับน้ำจากเหยื่อเท่านั้น ความสามารถนี้พบได้ในแมวตีนดำ (Felis nigripesที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้เช่นกัน

การสังเกตพฤติกรรมของแมวชนิดนี้ทำได้ยากมาก  สาเหตุหนึ่งจากขนอันหนานุ่มที่อุ้งตีนทำให้รอยตีนบนพื้นทรายแทบมองไม่เห็น สีสันตามลำตัวของมันก็กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เมื่อถูกมนุษย์รบกวนก็จะทำตัวแข็งไม่กระดุกกระดิก นอกจากนี้เมื่อถูกไฟส่องตอนกลางคืน มันจะย่อตัวลงต่ำและหลับตา จึงไม่ปรากฏแสงสะท้อนจากดวงตา ส่วนการหาข้อมูลด้านโภชนาการจากขี้ก็ทำได้ยากเพราะมันจะฝังจนมิดชิด 

แมวทรายอาศัยเพียงลำพัง มีจำนวนประชากรต่ำมาก เสียงร้องเรียกหาคู่ดังมากฟังคล้ายเสียงเห่าของหมาตัวเล็ก ๆ เสียงที่ดังและประสาทหูที่ไวมากของแมวชนิดนี้ ช่วยให้พวกมันสื่อสารกันเองได้แม้จะอยู่ห่างไกลกัน อาณาเขตของแมวทรายตัวผู้กว้างประมาณ 16 ตารางกิโลเมตรและซ้อนเหลื่อมกัน 

ชีววิทยา


ในทะเลทรายซาฮารา ลูกแมวทรายมักเกิดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ในเติร์กเมนิสถานลูกแมวเกิดในเดือนเมษายน ในปากีสถานมักเกิดในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนในแหล่งเพาะเลี้ยงไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน

ตั้งท้องนานประมาณ 60-69 วัน ออกลูกคราวละ 1-8 ตัว ปกติ 2-3 ตัว ออกลูกในโพรงหรือหลืบหิน ลูกแมวแรกเกิดหนัก 50-60 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุได้สองสัปดาห์ ลูกแมวทรายพัฒนาเร็วมาก หลังจากเกิดก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 12 กรัม เริ่มออกจากรังได้เมื่ออายุได้ 3-4 สัปดาห์  กินอาหารแข็งได้เมื่ออายุได้ สัปดาห์ เมื่ออายุได้ 3-4 เดือนก็แยกจากแม่ไปหากินเองได้แล้ว และจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 9-14 เดือน ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 13 ปี

สถานภาพ

สถานสภาพประชากรของแมวชนิดนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แมวทรายถูกจับไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ถูกล่า มีรายงานว่าในช่วงที่เกิดสงครามอ่าว แมวทรายก็ต้องตกเป็นเหยื่อสงครามด้วยจากการที่มีคนจำนวนมากพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปอยู่ในพื้นที่หากินของมัน

แมวทรายเป็นสัตว์หายาก แต่ความหายากอาจเกิดจากธรรมชาติที่ลึกลับของแมวชนิดนี้เอง ไม่ได้แสดงว่าสถานการณ์ของแมวชนิดนี้จะย่ำแย่แต่อย่างใด การที่แมวชนิดนี้ชอบอยู่ในที่แห้งแล้งทุรกันดาร และการที่พื้นที่หลายแห่งของโลกกำลังกลายเป็นทะเลทราย สถานการณ์ด้านที่อยู่อาศัยของแมวชนิดนี้จึงถือว่าดีขึ้น ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ของแมวชนิดอื่น

นอกจากนี้ความเชื่อของคนในท้องที่ยังทำให้แมวทรายไม่ถูกคุกคามจากคนมากนัก เช่นทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบชาด ซึ่งแมวทรายมักย่องไปจับไก่ชาวบ้านมากินเสมอ แต่แมวทรายกลับไม่ค่อยถูกชาวบ้านล่า เนื่องจากเชื่อว่าแมวชนิดนี้เป็นสัตว์เลี้ยงของศาสดามูฮัมเม็ดและลูกสาว

การสำรวจด้วยวิทยุติดตามตัวในอิสราเอล พบแมวทราย 22 ตัวภายในพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร 

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของแมวชนิดนี้ว่า ใกล้ถูกคุกคาม (2554) ไซเตสจัดแมวทรายอยู่ในบัญชีหมายเลข 

Felis margarita
ชื่อไทยแมวทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์Felis margarita
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลFelis

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.canuck.com/iseccan/sand.html
  • Sand Cat จาก IUCN / SSC Cat Specialist Group
  • Sand Cat จาก IUCN / SSC Cat Specialist Group

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ก.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 7 ก.พ. 66

Powered by Wimut Wasalai