แมวป่าหัวแบน
Flat-headed Cat
Prionailurus planiceps
ลักษณะทั่วไป
"สี่" หนึ่งในแมวป่าหัวแบนที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง สังเกตว่าตีนหน้าของแมวป่าหัวแบน มีขนฟูแน่นระหว่างเล็บกับอุ้งตีน เล็บตีนหน้าของแมวป่าหัวแบนหดได้มากเหมือนแมวทั่วไปแต่มีปลอกเล็บสั้นคลุมเล็บได้เพียงบางส่วนเท่านั้น (ภาพโดย วิมุติ วสะหลาย)
แมวป่าหัวแบน
จัดเป็นแมวที่แปลกกว่าแมวชนิดอื่น ๆ มันมีรูปหัวที่ยาวและแคบ และหน้าผากที่แบนราบสมชื่อ มีลำตัวยาวและขาสั้น ดูเผิน ๆ อาจคล้ายกับพวกชะมดหรือนากมากกว่าแมว
แมวป่าหัวแบนมีขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้านตัวโต ๆ ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม ลำตัวยาว ขนตามลำตัวยาว อ่อนนุ่มและแน่น ตามลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำและลายจุดละเอียดทั่วตัว ขนตรงส่วนที่เป็นลายจุดมีสีเทาหรือสีเนื้อที่ปลายเส้น สีของหัวมีสีน้ำตาลอมแดงและดูสว่างกว่าลำตัว ปากค่อนข้างยาว คางสีขาวและมีแต้มขาวที่แก้ม มีเส้นสีเหลืองลากตั้งแต่ตาไปที่หูทั้งสองข้าง หูกลมและเล็กผิดจากแมวทั่วไป และอยู่ค่อนไปทางข้างหัวมากกว่า ใต้ลำตัวสีขาวและมักมีจุดหรือแถบสีน้ำตาล ดวงตาใหญ่สีน้ำตาลอยู่ชิดกัน ใบหูกลมและสั้น ขาสั้น อาจมีแถบลายจาง ๆ พาดตามแนวนอน อุ้งตีนแคบและยาวคล้ายกับแมวบอร์เนียวแดง หางสั้นประมาณ 13-17 เซนติเมตร หรือราว 25-35 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-ลำตัวและมีขนหนาแน่น มีสีน้ำตาลแดง ส่วนใต้หางจะออกเหลืองเล็กน้อย
ชื่อเรียกแมวป่าหัวแบนในภาษาอื่นฝรั่งเศส | chat à tête plate |
เยอรมัน | Flachkopfkatze |
สเปน | gato cabeciancho |
อินโดนีเซีย | kucing hutan, kucing dampak |
มาเลเซีย | kucing hutan |
พม่า | gaung bya kyaung |
แมวป่าหัวแบนมีปลอกเล็บตีนสั้นทำให้เมื่อหดเล็บเข้าไปจะยังเห็นส่วนปลาย เช่นเดียวกับชีตาห์ เสือปลา และแมวชอฟรัว (Oncifelis geoffroyi) โดยจะเก็บเข้าไปได้เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น เล็บของมันจึงโผล่พ้นตีนออกมาและมองเห็นได้ ระหว่างนิ้วตีนยังมีพังพืดเชื่อมเพื่อช่วยในการว่ายน้ำแบบเดียวกับเสือปลา พังผืดของแมวป่าหัวแบนมีมากกว่าพังผืดของเสือปลาเสียอีก ทำให้เหมาะแก่การใช้ชีวิตริมน้ำ นอกจากนี้ยังมีกรามที่ยาว แคบ มีฟันที่แหลมคมกว่าแมวชนิดอื่น ๆ ซ้ำยังโย้เข้าหาด้านในปาก ยิ่งทำให้เหมาะที่จะคาบเหยื่อจำพวกปลาหรือกบไม่ให้ลื่นหลุดได้ง่าย ดวงตาที่ใหญ่ทำให้เหมาะกับการล่าในเวลากลางคืน จริง ๆ แล้วแมวชนิดนี้น่าจะเรียกว่า เสือปลา มากกว่าเสือปลา (Felis viverrina) จริง ๆ เสียอีก
ถิ่นที่อยู่อาศัย
เขตกระจายพันธุ์ของแมวป่าหัวแบน
แม้ว่าเราจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับแมวป่าหัวแบนน้อยมาก แต่เชื่อว่ามันอาศัยอยู่ในป่าลึกที่ราบต่ำ และมีลำธารอุดมสมบูรณ์ หรือในพื้นที่ ๆ เป็นหนองน้ำ ระดับสูงสุดที่เคยพบเห็นคือ 700 เมตร ที่เขาดูลิตเขตกระจายพันธุ์สูงสุดไม่เกินคอคอดกระ
เมื่อปี 2528 ได้มีการประกาศว่าแมวป่าหัวแบนได้สูญพันธุ์ไปจากมาเลเซียแล้ว แต่ต่อมาในปี 2534 มีผู้พบเห็นอีกในสวนปาล์มน้ำมันในมาเลเซียและล่าหนูเป็นอาหาร
อุปนิสัย
จากการสังเกตอุปนิสัยในกรงเลี้ยงของลูกแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ พบว่ามันชอบเล่นน้ำมาก เมื่อเจ้าหน้าที่นำอ่างน้ำเข้าไปในกรง มันจะรีบกระโจนเข้ามาเล่นโดยไม่รีรอ และเล่นอย่างสนุกสนาน ทั้งเล่นของเล่นใต้น้ำหรือแม้แต่นั่งแช่น้ำนานนับชั่วโมง มันสามารถมุดหัวลงไปคาบจับปลาใต้น้ำลึก 5 นิ้วได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามันชอบนำสิ่งของไปล้างน้ำ ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมของแรกคูน และพบว่ามันมีการล้างอาหารก่อนกินด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำล้างกรง มันก็จะเข้ามาเล่นกับสายน้ำอย่างสนุกสนาน มันจับกบที่บังเอิญกระโดดเข้าไปในกรง แต่เมื่อมีนกกระจอกบินเข้าไปในกรงบ้างมันกลับไม่สนใจเลย เวลาอาหาร มันจะเข้ามากินโดยการตะครุบ แล้วคาบย้ายเหยื่อไปกินห่างจากจุดที่ให้อาหารไม่น้อยกว่า 6 ฟุต นี่อาจเป็นสัญชาติญานตามธรรมชาติที่ทำให้เหยื่อที่ลื่นไหลของมันที่ถูกจับได้ไม่อาจกลับสู่น้ำได้แม้ว่าอาจจะลื่นลุดจากปากก็ตาม
เมื่อปี 2548 มีการยึดลูกแมวป่าหัวแบนสองตัวจากผู้ลักลอบขนย้ายออกนอกประเทศ ต่อมาแมวทั้งสองตัวซึ่งเป็นตัวเมียทั้งสองตัวได้รับการเลี้ยงดูที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ผู้เลี้ยง แมวป่าหัวแบนจะกินเฉพาะปลาน้ำจืดเท่านั้น แต่ไม่กินปลาทะเลเลย ไม่กินเนื้อกบ เมื่อให้อาหาร แมวจะคาบอาหารแล้วนำกลับเข้าไปกินในลังนอน
จากการผ่าดูกระเพาะของแมวป่าหัวแบนตัวเต็มวัยตัวหนึ่งในประเทศมาเลเซีย พบว่ามีปลาเพียงอย่างเดียว อีกตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ที่ตายในป่าของป่าอนุรักษ์กาลิมันตัน ในกระเพาะมีเกล็ดปลาและเปลือกกุ้ง ในบอร์เนียว พบว่าแมวป่าหัวแบนมักจับกบและปลาเป็นอาหาร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแมวป่าหัวแบนจะหากินกับสัตว์น้ำเป็นหลัก แต่ก็มีบันทึกว่ามันกินสัตว์ฟันแทะและนกบ้างเหมือนกัน มีบันทึกจากนักปักษีวิทยาชื่อ บี.เอ็น. สมิททีส์ ว่าพบแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในซาราวักถูกยิงขณะไล่จับลูกไก่ และ เอ็ม. คาน ก็เคยบันทึกว่าแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในเปรัก มาเลเซีย เคยติดกับดักสำหรับดักชะมดที่ใช้ไก่เป็นเหยื่อล่อ
เชื่อว่าแมวป่าหัวแบนในธรรมชาติอาศัยโดยลำพัง และประกาศอาณาเขตโดยการปล่อยปัสสาวะเช่นเดียวกับแมวทั่วไป ในแหล่งเพาะเลี้ยง พบว่าแมวป่าหัวแบนทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างก็ปล่อยกลิ่นโดยปัสสาวะเหมือนกัน วิธีปล่อยกลิ่นของแมวป่าหัวแบนต่างจากแมวชนิดอื่น แมวทั่วไปใช้วิธีหันก้นเข้าใส่เป้าหมายซึ่งอาจเป็นต้นไม้หรือพุ่มไม้ เหยียดหางตรงชี้ฟ้า แล้วฉีดปัสสาวะออกไปเป็นฝอย แต่แมวป่าหัวแบนจะยกหางขึ้นเฉียง ๆ ย่อขาหลังลงแล้วเดินไปข้างหน้าทั้งที่อยู่ในท่าย่ออย่างนั้นพร้อมกับปล่อยปัสสาวะออกมาเป็นทาง
เสียงลูกแมวป่าหัวแบนคล้ายเสียงของลูกแมวบ้านทั่วไป แต่ค่อนข้างสั่นเครือมากกว่า Muul และ Lim บรรยายไว้ว่าเสียงเหมือนเอานิ้วถูไปบนหวี
ชีววิทยา
แมวป่าหัวแบนตัวเมียตั้งท้องนานราว 56 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ฤดูกาลไม่ทราบแน่ชัด แต่เคยมีผู้พบเห็นลูกแมวในเดือนมกราคม ลูกแมวมีสีสันคล้ายกับตัวเต็มวัยมาก เพียงแต่สีออกจะเป็นสีเทามากกว่าเท่านั้น หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนเหมือนตัวเต็มวัยเมื่ออายุได้ 1 ปี ในสถานที่เพาะเลี้ยง มันอาจมีอายุอยู่ได้ถึง 14 ปี
ภัยที่คุกคาม
ด้วยเหตุที่แมวป่าหัวแบนอาศัยและหากินอยู่ริมน้ำ มันจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมลภาวะทางน้ำ โดยเฉพาะการปนเปื้อนของน้ำมัน คลอรีน และโลหะหนักที่ได้จากการทำเกษตรเคมีและการทำไม้ โดยสารพิษเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารของมัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพของแหล่งน้ำที่หากินของแมวป่าหัวแบนเพื่อขยายที่ดินทำกินของมนุษย์ก็ทำให้มันลดจำนวนลงเช่นกัน
สถานภาพ
สถานะภาพของประชากร
แมวป่าหัวแบนจัดเป็นแมวป่าที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีผู้พบเห็นมันน้อยครั้งมาก จึงไม่อาจประเมินสถานภาพที่แน่นอนได้
ไอยูซีเอ็น : ข้อมูลไม่เพียงพอ
สถานภาพการคุ้มครอง
ไซเตส : บัญชีหมายเลข 1
ไทย : สัตว์ป่าคุ้มครอง
ห้ามล่าและห้ามซื้อขาย
อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ไทย
ควบคุมการล่า
สิงคโปร์
ไม่มีการคุ้มครอง
บรูไนดารุสซาราม
Prionailurus planiceps |
ชื่อไทย | แมวป่าหัวแบน |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Prionailurus planiceps |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Felidae |
วงศ์ย่อย | Felinae |
สกุล | Prionailurus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 29 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 18 ส.ค. 66