พบ "ช้าม่วง" ไม้ใกล้สูญพันธุ์ "พระเทพฯ" ทรงห่วงใยให้อนุรักษ์

พบ "ช้าม่วง" ไม้ใกล้สูญพันธุ์ "พระเทพฯ" ทรงห่วงใยให้อนุรักษ์

22 พ.ย. 2558

ห้องข่าวกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          เมื่อวันที่ 21 พ.ย.นายธัญญา เนติธรรมกุล รักษาการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่น่ายินดีมากสำหรับประเทศไทย เมื่อกรมอุทยานฯ ได้ค้นพบพรรณไม้วงศ์ยางหายาก คือ ต้น “ช้าม่วง” หรือ ต้น “กระหด” ซึ่งเป็นไม้หายาก และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ถือเป็นการพบครั้งแรกในทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติแม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งมีความสูงของลำต้นกว่า 42 เมตร และมีขนาดรอบต้น 4.71 เมตร โดยถือว่ามีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มาก  โดยต้น “ช้าม่วง” จะมีใบอ่อนสีม่วง เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่  มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย บังกลาเทศ พม่าตอนล่าง คาบสมุทรมลายูตอนบนและทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของไทย พบที่ จ.กาญจนบุรีจนถึงนราธิวาส ขึ้นกระจายห่างๆ ในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 700 เมตร ต่อมาได้หายไปนานก่อนถูกตนพบ นอกจากนี้ ในบริเวณที่ค้นพบต้นช้าม่วง ยังพบต้นไม้ในวงศ์เดียวกัน เช่น ต้นตะเคียนทองขนาดใหญ่ ต้นยางนา ต้นยางปาย และ ต้นสน และเมื่อเดินสำรวจเข้าในป่าลึกที่มีความชื้น ยังพบมีต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงขึ้นอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
           รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า  ทั้งนี้ได้มีการกำชับให้หัวหน้าอุทยานฯ แม่วะ เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้พรรณไม้เหล่านี้ถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็จะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยรวบรวมและอนุรักษ์สายพันธุ์ไม้ป่าหายากสำหรับการปลูกเสริมป่าธรรมชาติ การปลูกฟื้นฟูป่า เพื่อลดภาวะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์พืชหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่มีค่าทางเศรษฐกิจต่อไป 



นายธัญญากล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ในเรื่องพรรณไม้หายากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งให้กรมอุทยานฯ นำเมล็ดพันธุ์พืชที่หายากทั้งหมดของประเทศไทยนำรวบรวมไปไว้ที่ สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า "Royal Botanic Gardens,Kew" หรือเรียกสั้นๆว่า "Kew Gardens" (คิว การ์เดนส์) ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากในหมู่นักนิยมศึกษาพันธุ์พืชทั่วโลก เป็นแหล่งสะสมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ จากทั่วโลก โดยมีอาคารใต้ดินเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส เมล็ดพันธุ์ได้ถูกอบแห้ง ทำความสะอาด และจัดแยกเอาแต่เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดเข้าตู้เย็นขนาดยักษ์ ซึ่งสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ได้นานนับพันปี และทุกเมล็ดพันธุ์จะสามารถนำมาใช้เพาะปลูกได้ โดยขณะนี้ที่คิวการ์เดนส์ ได้มีหน่วยงานกว่า 120 แห่งใน 50 กว่าประเทศร่วมมือกันเก็บรวบรวม และอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับประเทศไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อบันทึกข้อตกลงร่วมกับคิวการ์เดนส์เพื่อนำพรรณไม้วงศ์ยางหายากเข้าไปเก็บรวบรวมไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
นายธัญญากล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานฯ ก็ยังคงศึกษาวิจัยพรรณไม้หลากหลายสายพันธุ์ คิดค้นหาแนวทางขยายพันธุ์ไม้ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากหลายสถาบัน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรพืชของไทยไว้ด้วย
ด้านนายเดชอนันต์ คำสวน หัวหน้าอุทยานฯ แม่วะ กล่าวว่า ลักษณะทั่วไปของอุทยานฯ แม่วะ เป็นป่าดิบแล้งมีต้นไม้ต่างๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างกว่า 6,000 ไร่ มีการค้นพบต้นไม้วงศ์ยางจำนวนมาก มีประมาณ 1,000 กว่าต้น มีความโตตั้งแต่ 100-500 เซนติเมตร ความสูงตั้งแต่ 30-45 เมตร โดยเฉพาะ “ต้นช้าม่วง”  เป็นต้นไม้หายากและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ต้นช้าม่วงที่พบมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มาก โดยอุทยานฯ จะทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติต้นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ และระบบนิเวศของป่า  และจะทำแหล่งศึกษาธรรมชาติที่โดดเด่นในเรื่องพันธุ์ไม้วงศ์ยางของ จ.ลำปางต่อไป

Powered by Wimut Wasalai