แมวบ้าน

Domestic Cat

Felis catus

แมวบ้าน เป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมอยู่ในอันดับต้น ๆ ของสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ปัจจุบันทั่วโลกมีแมวบ้านอยู่หลายร้อยล้านตัว เฉพาะในสหรัฐอเมริกาก็มีราว 50 ล้านตัว แมวบ้านเป็นหนึ่งสัตว์เลี้ยงเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้เป็นอย่างดีโดยที่ยังสามารถคงลักษณะของสัตว์ป่าอยู่ได้ อาจเป็นลักษณะพิเศษนี้เองที่ทำให้แมวบ้านเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้ที่มีวิถีชีวิตห่างจากธรรมชาติแต่ยังอยากสัมผัสกับสัญชาติญานจากป่าอยู่

 (ภาพโดย วาสนา ศรีรักษ์)


แมวนานาพันธุ์


ปัจจุบันมีแมวพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 100 พันธุ์ทั่วโลก แม้ว่ามนุษย์เพิ่งเริ่มผสมพันธุ์แมวเพื่อเลือกลักษณะเด่นเมื่อเพียงร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น แมวแต่ละพันธุ์มีลักษณะต่างกันมากทั้งสีและความยาวขน ในขณะที่แมวพันธุ์เม็กซิกันมีรูปร่างเปลือยเปล่าแทบไม่มีขน แมวเพอร์เซียกลับมีขนฟูฟ่อง

แม้แมวบ้านจะมีสายพันธุ์แยกออกเป็นจำนวนมาก แต่ทุกพันธุ์มีขนาดและน้ำหนักตัวไม่ต่างกันมาก ตัวเต็มวัยน้ำหนักอยู่ในช่วง 4.1 5.4 กิโลกรัม แมวบ้านมีกระดูกที่ยืดหยุ่นมาก สามารถพลิกลำตัวกลับด้าน 180 องศาได้ กระโดดได้สูงเป็นห้าเท่าของความสูงลำตัว ตีนหน้ามีนิ้วข้างละห้านิ้ว ตีนหลังมีนิ้วข้างละสี่นิ้ว เล็บตีนหดเก็บเข้าไปในปลอกเล็บได้ สูตรฟัน 3/3, 1/1, 2/2, 1/1 

แมวบ้านเป็นสัตว์สายตายาว ซึ่งเหมาะแก่การล่า มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้เกิน ฟุตไม่ชัด มีชั้นสะท้อนแสงที่หลังลูกตา ช่วยให้แมวมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในที่มืดได้ดี แมวแยกแยะสีได้บางสี เช่นสีน้ำเงินและแดง  มีเซลรับกลิ่นมากถึง 200 ล้านเซล ซึ่งมากกว่ามนุษย์ถึง 30 เท่า ลิ้นของแมวมีหนามขนาดเล็กนับร้อยหนาม มีลักษณะคล้ายตะขอชี้เข้าด้านใน มีประโยชน์ในการสางขนทำความสะอาด และยังใช้ลอกเนื้อของเหยื่อออกจากกระดูกได้ด้วย

 (ภาพโดย วาสนา ศรีรักษ์)


ต้นกำเนิด


เชื่อว่าแมวบ้านสืบเชื้อสายมากจากแมวป่าแอฟโฟร-เอเชียติก (Felis lybicaส่วนแมวป่า (Felis chausที่มีอยู่ในเมืองไทย หรือแมวพัลลัส (Felis manulพบว่าไม่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับแมวบ้านแต่อย่างใด อียิปต์คือชาติแรกที่นำแมวมาเป็นสัตว์เลี้ยงเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว แมวในยุคนั้นถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เคียงคู่กับศาสนาเลยทีเดียว เช่นเดียวกับวัวที่ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

แมวป่าแอฟโร-เอเชียติก (Felis lybicaบรรพบุรุษของแมวบ้าน (ภาพโดย Leon Emanuel)


แมวบ้านอยู่ได้แทบทุกที่ที่มีมนุษย์ พบได้ทุกทวีปยกเว้นเพียงแอนตาร์กติกา ไม่เว้นแม้แต่ตามเกาะขนาดใหญ่ นอกจากจะอยู่ในฐานะของสัตว์เลี้ยงของมนุษย์แล้ว ยังมีแมวบ้านที่กลับไปใช้ชีวิตเป็นสัตว์ป่าอีกจำนวนมาก 

อุปนิสัย


แมวบ้านเป็นสัตว์หากินกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แมวบ้านอาจดูเหมือนกับเป็นสัตว์ที่นอนตลอดทั้งวัน แต่ความเป็นจริงแมวจะหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สลับกัน มันตื่นขึ้นมาเพื่อจะสำรวจเสียงหรือสิ่งแปลกปลอมรอบตัว หากไม่มีอะไรน่าสนใจก็จะหลับต่อ  แม้ในขณะที่หลับหูของแมวก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่จะพลิกหันไปหันมาอยู่เสมอเพื่อดักฟังเสียงแปลกปลอมเช่นเสียงความถี่สูงซึ่งอาจจะเป็นเสียงของเหยื่อ หูของแมวสามารถฟังเสียงความถี่สูงกว่าที่มนุษย์ได้ยินมาก

ผู้ที่เลี้ยงแมวบ้านอาจเคยสังเกตว่าแมวชอบที่จะถูและกลิ้งเกลือกตัวกับสิ่งของหรือพื้นที่มีกลิ่นแรง แล้วกลิ่นนั้นก็จะติดกับตัวแมวบ้านไปด้วย พฤติกรรมเช่นนี้เชื่อว่าเป็นสัญชาติญาณที่ติดมาจากธรรมชาติ เพราะกลิ่นภายนอกจะกลบกลิ่นของตัวเอง ซึ่งทำให้เป็นประโยชน์ในการล่าเหยื่อ แม้ว่าแมวบ้านไม่จำเป็นต้องหาอาหารเองเพราะมีคนให้อาหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าแมวจะล่าเหยื่อเองไม่ได้ แมวยังล่าสัตว์รอบ ๆ บ้านหลายชนิด เช่น หนู กระรอก ตุ่น หนูผี กระต่าย ค้างคาว รวมถึงนกอีกหลายชนิดเช่น นกกระจอก นกกิ้งโครง นกกางเขน นกพิราบ ไก่ นกกระทา  หรืออาจจะกินแมลง และ ปลา ด้วยก็ได้ บางครั้งแมวอาจกินหญ้าหรือพืชใบเขียวบางชนิด พฤติกรรมที่แมวกินพืชเชื่อว่าอาจเป็นความต้องการแร่ธาตุหรือวิตามินบางชนิดที่ไม่มีอยู่ในอาหารปกติของมัน

แมวอาจกลืนขนจากลำตัวของมันเองเข้าไปในกระเพาะจนขนรวมกันเป็นก้อนอยู่ในกระเพาะ สิ่งนี้อาจเป็นเจตนาของมันเองเพื่อให้ก้อนขนเข้าไปบุหรือป้องกันกระเพาะจากเศษกระดูกอันแหลมคมจากสารพัดเหยื่อที่มันกินเข้าไป 

แมวบ้านเป็นสัตว์ที่อยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ แต่แมวก็มีสังคมในหมู่แมวที่อยู่ในท้องที่เดียวกัน แมวแต่ละตัวมีการจัดลำดับชนชั้นในสังคมแมว ในสถานที่ ๆ มีอาหารหรือเหยื่อให้กินมาก แมวอาจรวมตัวกันเป็นชุมชนแมวขนาดใหญ่และมีสัมพันธ์ที่ดีถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน แมวในสังคมหนึ่งจะรู้จักมักคุ้นกันโดยมักอาศัยการจำแนกกลิ่น เช่นกลิ่นของปัสสาวะ หรือกลิ่นจากต่อมกลิ่นที่แมวถูกเข้ากับสิ่งของต่าง ๆ 

ชีววิทยา


เมื่อตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์ มันจะปล่อยกลิ่นและส่งเสียงร้องบ่งบอกถึงภาวะเป็นสัดของมัน ในช่วงนี้มันจะยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้เพื่อผสมพันธุ์ได้ แมวตัวผู้ที่คุ้นเคยจะเข้ามาผสมพันธุ์ได้ทันที แต่สำหรับแมวตัวผู้ต่างถิ่นตอนแรกจะถูกขับไล่ออกไม่ให้เข้าใกล้ได้ง่ายดายนัก มันจะต้องตาม "ตื้อ" อยู่สักพักตัวเมียจึงยอมให้เข้าใกล้ได้ 

แมวตัวเมียจะเป็นสัดปีละประมาณ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะยาวนานประมาณ วัน แต่ถ้าในช่วงวันแรก ๆ ที่ติดสัดไม่ได้ผสมพันธุ์ ระยะเวลาการติดสัดก็อาจจะยาวนานกว่านี้ ตัวเมียตั้งท้องนานประมาณ 63-66 วัน ออกลูกปีละประมาณ ครอก มีลูกรวมกัน 1-8 ตัว แต่ส่วนใหญ่จะประมาณ 3-5 ตัว แม่แมวจะออกลูกตามโพรงไม้ โคนต้นไม้ กองหลืบหิน พุ่มทึบ ลัง หรือแม้แต่กล่องกระดาษ 

ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 85-110 กรัม ตาจะเปิดได้ภายในเวลา 7-20 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ ถึง 15 วัน ฟันน้ำนมเริ่มงอกเมื่ออายุได้สองสัปดาห์ ลูกแมวเริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่ออายุ สัปดาห์และหย่านมเมื่ออายุ 8-10 สัปดาห์ เมื่ออายุได้สี่เดือนฟันเขี้ยวแท้ก็จะขึ้นมาแทนฟันน้ำนม พออายุได้ เดือนก็สามารถแยกจากแม่และหากินเองได้แล้ว เมื่อแมวหนุ่มสาวมีอายุได้ 10-12 เดือน ก็จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พร้อมที่จะผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกรุ่นต่อไป

แมวมีอายุขัย 12-18 ปี 

ประชากรแมว

ปัจจุบันในโลกมีแมวบ้านอยู่ราว 600 ล้าน-หนึ่งพันล้านตัว ในบางพื้นที่มีมากเกินไปจนเกิดปัญหา เพราะแมวเป็นนักฆ่าโดยสายเลือด บางพื้นที่แมวบ้านทำให้ประชากรของสัตว์หลายชนิดลดลงไป ปัญหานี้เด่นชัดมากในบางพื้นที่ โดยเฉพาะทวีปออสเตรเลีย เนื่องจากในทวีปนี้ไม่เคยมีสัตว์จำพวกแมวมาก่อน เมื่อมนุษย์นำแมวเข้ามาและสัตว์ท้องถิ่นยังปรับตัวไม่ได้ จึงตกเป็นเหยื่อของแมวบ้านอย่างง่ายดาย ปัจจุบันคาดว่าประเทศออสเตรเลียมีแมวบ้านที่เป็นสัตว์เลี้ยงราว 3.8 ล้านตัวและแมวที่หากินอย่างอิสระราวหกล้านตัว มีการประเมินว่าแต่ละปีนักฆ่าขนฟูเหล่านี้ฆ่าสัตว์พื้นเมืองไปหลายพันล้านตัว คาดว่าแมวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์พื้นเมือง 22 ชนิดของออสเตรเลียต้องสูญพันธุ์ไป
 

ทราบหรือไม่

เคยพบแมวบ้านครอกใหญ่ที่สุดถึง 18 ตัว 
แมวบ้านได้ยินเสียงได้สูงถึง 65 กิโลเฮิรตซ์
แมวบ้านที่อายุยืนที่สุดมีอายุถึง 38 ปี
แมวบ้านรับรู้รสขม เปรี้ยว และเค็มได้ แต่รับรสหวานไม่ได้
Felis catus
ชื่อไทยแมวบ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์Felis catus
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลFelis

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 7 ต.ค. 66 แก้ไขครั้งล่าสุด : 8 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai