แมวตีนดำ
Black Footed Cat, small spotted cat
Felis nigripes
ลักษณะทั่วไป
แมวตีนดำเป็นแมวขนาดเล็กมาก
โดยเฉพาะตัวเมียมีน้ำหนักเพียง 0.8-1.6 กิโลกรัม ส่วนตัวผู้หนักเพียง 1.6-2.1 กิโลกรัม ความยาวลำตัวประมาณ 50 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่เพียง 25 เซนติเมตร พอจะถือว่าเป็นแมวป่าที่เล็กที่สุดในโลก แมวป่าชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กใกล้เคียงกันได้แก่แมวจุดสีสนิมและแมวคอดคอด
แมวตีนดำมีขนหนาหนุ่ม มีสีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองจนถึงน้ำตาลแดง มีลายเป็นจุดกลมสีเข้มตามลำตัว บางจุดมีการเชื่อมต่อกันเป็นสายสั้น ๆ หรือเป็นวง หัวโตและกว้างเมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว ตาโต สีเหลืองอำพันหรือสีน้ำตาลอมเทา คาง หน้าอก ท้อง และขาด้านในมีสีขาว มีเส้นสีเข้มที่แก้มข้างละสองเส้น หูใหญ่มน หลังหูสีน้ำตาลอ่อน ขามีเส้นสีดำพาดตามแนวนอน มีแถบเข้มที่แก้มก้น อุ้งตีนดำและมีขนยาวสีดำปกคลุมอันเป็นที่มาของชื่อ ตีนที่ดำนี้ช่วยให้รับมือกับพื้นดินอันร้อนระอุของที่กึ่งทะเลทรายที่มันอาศัยอยู่ได้เป็นอย่างดี หางค่อนข้างสั้น มีความยาวราวครึ่งหนึ่งของลำตัว มีปล้องสีดำสองหรือสามปล้อง ปลายหางเรียว สีดำ
ชื่อเรียกแมวตีนดำในภาษาต่าง ๆอังกฤษ | Black Footed Cat, small spotted cat |
ฝรั่งเศส | chat à pieds noirs |
เยอรมัน | Schwarzfusskatze |
สเปน | gato patinegro, gato de pies negros |
แอฟริกัน | klein gekolde kat, swart poot kat, miershooptier |
นามา (นามิเบีย) | !koirus |
นารอน (บอตสวานา) | tutchu |
เซตสวานา (บอตสวานา) | sebala, lototsi |
โฮซา (แอฟริกาใต้) | ingwe yeziduli |
แมวตีนดำมีสองชนิดย่อย ชนิดย่อย F.n.nigripes มีสีซีดกว่า อาศัยอยู่ทางเหนือ พบในบอตสวานา นามิเบีย และแองโกลา กับชนิดย่อย F.n.thomasi สีเข้มกว่า อยู่ในตะวันออกของจังหวัดเคปและตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้
ถิ่นที่อยู่อาศัย
แมวตีนดำพบเพียงในสี่ประเทศเท่านั้น คือแอฟริกาใต้ บอตสวานา นามิเบีย และตอนใต้ของแองโกลา มักอาศัยอยู่ตามป่าละเมาะทะเลทราย ที่ราบกึ่งทะเลทราย สเตปปส์ รวมถึงในทะเลทรายคาลาฮารีและทะเลทรายคารู สถานที่ที่แมวชนิดนี้ชอบที่สุดน่าจะเป็นที่ป่าหญ้าสูงที่มีนกและหนู่อยู่ชุกชุม
เขตกระจายพันธุ์ของแมวตีนดำ
อุปนิสัย
แมวตีนดำเป็นแมวถือสันโดษ หากินตอนกลางคืนเป็นหลัก ตัวที่อาศัยอยู่ในเขตคุ้มครองมีแนวโน้มหากินช่วงฟ้าสางและพลบค่ำมากขึ้น ส่วนตอนกลางวันที่ร้อนระอุจะหลบอยู่ตามโพรงปลวกหรือโพรงเก่าของสัตว์ชนิดอื่นเช่นโพรงของกระต่ายป่าเคป หรืออาจเป็นซอกหิน อุปนิสัยที่ชอบพักอยู่ตามโพรงปลวกทำให้มีชื่อในภาษาท้องถิ่นที่มีความหมายว่า “เสือจอมปลวก”
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความดุร้ายและความเก่งกาจของแมวชนิดนี้มากมาย เคยมีรายงานว่ามันจู่โจมแกะขนาดเล็กที่หนักกว่าตัวมันถึงสี่เท่า โดยกัดที่คอแล้วปล่อยตัวห้อยจนกระทั่งเขี้ยวเจาะแทงทะลุเส้นเลือด บ้างกล่าวว่าแมวตีนดำถึงกับล่ายีราฟได้เลยทีเดียว แต่ความจริงแล้วแมวชนิดนี้ล่าสัตว์ฟันแทะเช่นหนู เจอร์บิล กระรอกดิน และหนูกระเป๋า (pouched mouse) เป็นอาหารหลัก บางครั้งก็ล่าสัตว์ที่หนักพอกับตัวมันเองได้เหมือนกัน เช่น กระต่ายป่าเคป ไข่ก็เป็นของชอบของแมวตีนดำเหมือนกัน มันกินไข่โดยขบเปลือกอย่างแผ่วเบาด้วยกรามแล้วเลียกินของเหลวจากไข่ที่ไหลออกมา นอกจากนี้ยังล่า นก แมลง และสัตว์เลื้อยคลาน สำหรับแมลงดูเหมือนว่าแมวตีนดำชอบกินแมงมุมเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับสัตว์ตระกูลแมวทั้งหมดแล้ว แมวตีนดำมีอัตราการล่าเหยื่อสำเร็จสูงที่สุด
บางครั้งแมวตีนดำก็กินซากด้วย เคยพบว่าแมวตีนดำนำซากนกและหนูไปซ่อนในโพรงเพื่อกลับมากินทีหลัง และเคยมีคนพบมันกินซากลูกสปริงบ็อกที่สัตว์อื่นทิ้งไว้ติดต่อกันนานถึงสี่วัน
แม้ว่าแมวตีนดำปีนป่ายได้เก่ง แต่มักจับหนูและนกที่อาศัยอยู่ตามพื้นมากกว่า ในการล่าสัตว์จำพวกหนู แมวตีนดำจะซุ่มรออยู่หน้ารูคอยจับเหยื่อที่โผล่ออกมา ส่วนการล่านกจะใช้วิธีกระโดดตะปบกลางอากาศ มันสามารถกระโดดได้สูงถึง 1.5 เมตรและไกลถึง 2 เมตรเลยทีเดียว
แมวชนิดนี้อดน้ำเก่งมาก ลำพังน้ำจากตัวเหยื่อก็อาศัยอยู่ได้แล้ว แมวที่ทนแล้งได้เก่งขนาดนี้นอกจากแมวตีนดำแล้วก็มีแมวทรายที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอีกชนิดหนึ่ง
เนื่องจากพื้นที่หากินแห้งแล้งทุรกันดาร แมวตีนดำจึงต้องตระเวณหากินเป็นบริเวณกว้างมากในแต่ละคืน บางคืนอาจเดินไกลถึง 8 กิโลเมตร นอกจากเดินทางเก่งแล้วยังนอนเก่งอีกด้วย บางวันนอนมากถึง 20 ชั่วโมง และออกล่าเพียงวันเว้นวัน
พื้นที่หากินของตัวเมียและตัวผู้ใกล้เคียงกันคือประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตของตัวผู้ซ้อนทับกับอาณาเขตของตัวเมียประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ปกติทั้งตัวผู้และตัวเมียจะหากินตามลำพัง จะพบกันก็ต่อเมื่อต้องการผสมพันธุ์เท่านั้น
จากคำบอกเล่า แมวชนิดนี้มีเสียงร้องคล้ายเสียงคำรามของเสือโคร่ง แต่สูงกว่าหนึ่งคู่แปด และดังไปไกลมาก
ศัตรูตัวฉกาจของแมวชนิดนี้คือ งู หมาจิ้งจอก และนกเค้าขนาดใหญ่ เมื่อมีภัยกร้ำกรายครอบครัวแมว แม่จะร้องเตือน ลูก ๆ จะหยุดนิ่งไม่ขยับเขยื้อน รอจนกระทั่งแม่ส่งเสียงต่ำสั้น ๆ พร้อมกันยกหูตั้งขึ้น จึงค่อยเข้าไปหาแม่
ชีววิทยา
แมวตัวเมียมีช่วงเวลาติดสัดนาน 36 ชั่วโมง แต่แม้กระนั้นมีช่วงเวลาให้ผสมพันธุ์ได้เพียง 5 หรือ 10 ชั่วโมงเท่านั้น ช่วงเวลาที่สั้นเช่นนี้อาจเป็นเพราะแมวชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีแหล่งอาหารมากพอให้แมวสองตัวใช้พื้นที่ร่วมกันเป็นเวลานานได้
หลังจากตั้งท้องนาน 63-68 วัน ก็ถึงเวลาลูกแมวได้ออกมาดูโลก แม่แมวมักออกลูกในโพรง ครอกนึงราว 1-3 ตัว แต่ส่วนใหญ่มี 2 ตัว มักออกลูกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ลูกแมวแรกเกิดหนัก 60-84 กรัม แม่แมวเปลี่ยนรังบ่อย อาจเป็นการหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าชนิดอื่น ลูกแมวตีนดำโตเร็วกว่าแมวบ้าน น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 8 กรัม ตาเปิดเมื่ออายุได้ราว 7 วัน หากินเองได้เร็วมาก พออายุได้ 3 เดือนก็เป็นอิสระจากแม่ และพอถึง 20 เดือนก็โตเต็มวัยพร้อมเป็นพ่อแม่แมวแล้ว
ในแหล่งเพาะเลี้ยง แมวตีนดำมีอายุประมาณ 13 ปี
ภัยที่คุกคาม
แมวตีนดำมีจำนวนน้อยตามธรรมชาติ แมวชนิดนี้ถูกคุกคามจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์หลายด้าน การล่าไม่ใช่ภัยคุกคามหลัก การเลี้ยงปศุสัตว์เป็นจำนวนมากเกินไปเป็นการรุกล้ำและจำกัดเขตหากินของแมวตีนดำรวมทั้งลดจำนวนของสัตว์เหยื่อของแมวอีกด้วย บางพื้นที่มีการวางยาเบื่อเพื่อกำจัดคาราคัล แมวป่าแอฟริกา และหมาจิ้งจอก แต่การกระทำเช่นนี้ย่อมคุกคามชีวิตของแมวตีนดำด้วยเนื่องจากแมวตีนดำกินซากเหมือนกัน ยากำจัดแมลงจำพวกตั๊กแตนก็เป็นภัยต่อแมวด้วย นอกจากนี้แมวตีนดำไม่น้อยก็ต้องตายเพราะหมาของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ไล่หมาจิ้งจอก การศึกษาในระยะหลังพบว่าแมวตีนดำมีอัตราการผสมพันธุ์เลือดชิดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราที่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกตัดออกเป็นผืนเล็กผืนน้อย
สถานภาพ
แมวตีนดำเป็นสัตว์หายากมีจำนวนน้อย แม้จะพบได้บ่อยในบางพื้นที่ก็ตาม ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพว่าอยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ประเทศที่ห้ามล่า
บอตสวานา, แอฟริกาใต้
ไม่มีการคุ้มครอง
โมซัมบิก นามิเบีย ซิมบับเว
ภาพแมวตีนดำในโซเชียลมีเดีย
Felis nigripes |
ชื่อไทย | แมวตีนดำ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Felis nigripes |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Felidae |
วงศ์ย่อย | Felinae |
สกุล | Felis |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 29 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 12 ม.ค. 67