แมวปัมปัส
Pampas Cat
Leopardus colocolo
ลักษณะทั่วไป
แมวปัมปัสดูเผิน
ๆ เหมือนแมวบ้านพันธุ์ดี ลำตัวอ้วน ขนฟูหนานุ่ม พวกที่อยู่ในเขตหนาวขนจะหนากว่าพวกที่อยู่ในเขตที่อบอุ่นกว่า ตัวเต็มวัยความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 43.5-70 เซนติเมตร หนัก 3-7 กิโลกรัม ความสูงที่หัวไหล่ 30-35 เซนติเมตร สีสันแตกต่างกันตั้งแต่สีเหลือง-ขาว เทา-เหลือง สีน้ำตาล และน้ำตาล-เทา เทาเงิน และเทาอ่อน ลวดลายของขนอาจเป็นจุดหรือเป็นริ้วสีแดงอมเทา หรืออาจเรียบเกือบไม่มีลาย มีขนชั้นนอกยาวคล้ายแผงคอสิงโตขึ้นอยู่บนหลัง ขนนี้อาจยาวถึง 7 เซนติเมตร เมื่อตกใจจะชูชันขึ้น หัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว ใบหน้ากว้าง จมูกสั้น ตาสีอำพันค่อนข้างโต หูใหญ่ชี้ หลังใบหูสีดำ กลางใบหูมีจุดสีเทาหรือสีขาว ขาสั้นม่อต้อ ช่วงใต้ลำตัวและขาสีขาวหรือสีครีมมีจุดสีน้ำตาลหรือสีดำ หางยาวประมาณ 22-32.2 เซนติเมตร ฟู มีแถบสีน้ำตาลคล้ายปล้อง
แมวปัมปัส (ภาพโดย arkive.org)
ชื่อพ้อง
●Lynchailurus colocolo Molina, 1782
●Oncifelis colocolo Molina, 1782
เนื่องจากมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก แมวปัมปัสจึงมีสีสันแตกต่างกันมากตามแต่ละพื้นที่ พวกที่อยู่ในที่สูงในเทือกเขาแอนดีส จะมีสีเทา ลายริ้วสีออกแดง ดูคล้ายกับแมวภูเขาแอนดีส แม้จะมีลายไม่มากเท่าแมวภูเขาแอนดีสก็ตาม ในทุ่งปัมปัสของอาร์เจนตินา ขนจะยาวและสีออกไปทางสีน้ำตาลอมเหลือง และลายกลมกลืนไม่เด่นชัด ตัวผู้วัยเด็กตัวหนึ่ง (3 เดือน) ที่จับได้ในตอนกลางของบราซิลมีพื้นสีสนิมและลายสีดำทั่วทั้งตัว แต่เมื่ออายุได้ 8 เดือน ลายตามลำตัวกลับจางหายไป เหลือแต่ลายตามขาและช่วงล่างของลำตัวเท่านั้น
บริเวณตอนกลางของบราซิลพบว่ามีการผสมข้ามชนิดระหว่างแมวปัมปัสกับแมวออนซิลลา (Leopardus tigrinus) ด้วย
ชื่อเรียกแมวปัมปัสในภาษาต่าง ๆอังกฤษ | Pampas Cat , grass cat |
ฝรั่งเศส | chat des pampas |
เยอรมัน | Pampaskatze |
สเปน | gato pajero, gato de los pajonales, osio |
โบลิเวีย, ชิลี, เอกวาดอร์, เปรู, ปารากวัย | gato montés |
โบลิเวีย | gato peludo |
บราซิล | gato palheiro |
ชิลี | gato colocolo |
เอกวาดอร์ | gatillo |
เปรู | osjollo, chinchay |
แมวโกโลโกโล และแมวปันตานัล
เดิมนักวิทยาศาสตร์แบ่งแมวปัมปัสออกเป็นสามชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีลวดลายต่างกันและมีเขตกระจายพันธุ์แยกจากกัน คือพวกที่อยู่ในเทือกเขาแอนดีส ตั้งแต่เอกวาดอร์ไปจนถึงอาร์เจนตินากลุ่มหนึ่ง พวกที่อยู่ในทุ่งปันตานัลกลุ่มหนึ่ง และพวกที่อยู่ทางตะวันตกของชิลี
แต่ต่อมาในปี 2537 นักวิทยาศาสตร์ได้มีการแยกแมวปัมปัสทั้งสามชนิดย่อย ออกเป็นสามชนิดตามสัญฐานวิทยา ดังนี้
ชื่อชนิด | ชื่อวิทยาศาสตร์ | เขตกระจายพันธุ์ |
---|
แมวปัมปัส | Lynchailurus pajeros (Desmarest, 1816) | เทือกเขาแอนดีสในเขตของเอกวาดอร์จนถึงปาตาโกเนียและอาร์เจนตินา |
แมวปันตานัล | Lynchailurus braccatus (Cope, 1889) | ทุ่งใหญ่เขตอบอุ่น และป่ากึ่งเขตร้อนในบราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย |
แมวโกโลโกโล | Lynchailurus colocolo (Molina, 1782) | ตอนกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของชิลี |
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เชิงพันธุศาสตร์สนับสนุนให้มีการแบ่งย่อยในระดับชนิดย่อยมากกว่าที่จะแยกในระดับชนิด นอกจากนี้ผลจากการแบ่งให้เป็นสามชนิดแยกจากกันก็ไม่สอดคล้องกับการแบ่งตามสัญฐาน นั่นหมายความว่ามีผลต่อกลุ่มประชากรต่างกันด้วย ดังนั้นเรื่องของแมวปัมปัส แมวโกโลโกโล และแมวปันตานัล จึงยังมีความคลุมเคลืออยู่ การจัดอนุกรมวิธานของแมวปัมปัสยังคงต้องมีการศึกษาต่ออีกมาก
เนื่องจากแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่ประกอบการเขียนบทความนี้ อ้างถึงแมวปัมปัสในการเรียกแบบเดิม ซึ่งรวมถึงแมวโกโลโกโลและแมวปันตานัลด้วย ดังนั้น "แมวปัมปัส" ในบทความนี้ จะเป็นการเรียกรวมทั้งสามชนิดนี้ไว้ด้วยกัน
ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์
เขตกระจายพันธุ์ของแมวปัมปัส
แม้จะมีชื่อว่าแมวปัมปัส ซึ่งน่าจะสื่อว่าเป็นแมวแห่งทุ่งหญ้าปัมปัสของอเมริกาใต้ แต่ความจริงแมวชนิดนี้มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ได้หลายประเภท นอกจากในทุ่งหญ้าแล้วยังพบได้ในป่าชื้น ป่าเปิด ป่าบึง ซะวันนา พื้นที่กึ่งทะเลทราย ป่าชายเลน พื้นที่เขาลาดชัน พบในที่ราบน้ำท่วมถึงปาตาโกเนีย ไม่พบในป่าฝนในที่ต่ำและชายฝั่ง พบได้ตั้งแต่ระดับ 100 จนถึง 5,000 เมตรในทั้งสองฝั่งของเทือกเขาแอนดีส และอาจเป็นไปได้ว่าอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่กับแมวภูเขาแอนดีส (Oreailurus jacobita) ในบริเวณตอนล่างของเขตกระจายพันธุ์ แมวปัมปัสอาศัยอยู่ในทะเลทรายปาตาโกเนียที่หนาวเย็นและแห้งแล้ง ตอนเหนือแพร่ไปไกลถึงมาโตกรอสโซในบราซิลตะวันตกเฉียงใต้ ปารากวัย โบลิเวีย เทือกเขาแอนดีสในเปรู ภาคกลางของชิลี และบางส่วนของเอกวาดอร์ เคยพบในป่าบึงพื้นที่ต่ำที่มีหญ้าเอสปาโตขึ้นเป็นหย่อมของอุรุกวัย แต่ประเทศนี้ได้ประกาศว่าแมวชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อว่าน่ายังหลงเหลืออยู่บ้างแม้ไม่มากนัก
อุปนิสัย
แม้แมวชนิดนี้จะมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมากและเป็นที่รู้จักกันดี แต่แทบไม่มีการศึกษาภาคสนามเลย การขาดแคลนข้อมูลในด้านนี้ทำให้การวางแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยากมาก
เชื่อว่าแมวปัมปัสน่าจะหากินตอนกลางคืน พบตอนกลางวันบ้าง อาศัยบนพื้นดินเป็นหลัก แต่จะปีนขึ้นต้นไม้หากมีภัยคุกคาม เคยพบว่าแมวปัมปัสในกรงเลี้ยงตัวหนึ่งในบราซิลเลือกพักผ่อนอยู่บนง่ามไม้ที่สูงที่สุดในกรงเสมอ คาดว่าจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กที่หากินตอนกลางคืนเป็นอาหาร รวมถึงนกที่ทำรังอยู่บนพื้นดินเช่นเพนกวินและไข่ นอกจากนี้ยังกินกิ้งก่าและแมลงขนาดใหญ่ด้วย มีรายงานว่าแมวปัมปัสจับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านกินเหมือนกัน โดยเฉพาะในเขตที่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์
แมวปัมปัสนิสัยดุร้ายมาก แม้จะอยู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงก็ตาม
ชีววิทยา
ข้อมูลด้านชีววิทยาของแมวปัมปัสไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก ทราบเพียงว่าตั้งท้อง 80-85 วัน ออกลูกคราวละ 1-3 ตัว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 2 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงที่อยู่ในซีกโลกเหนือพบว่าฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม อายุขัยเฉลี่ย 9 ปี ตัวที่อายุมากที่สุดคือ 16.5 ปี
ภัยคุกคาม
การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งสำหรับแมวชนิดนี้ ทุ่งปัมปัสของอาร์เจนตินาและอุรุกวัยเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเข้าไปแผ้วถางตั้งรกรากกันมาก ส่วนพวกที่อยู่ในชิลีคือกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุดเนื่องจากพื้นที่เล็ก นอกจากนี้การที่สัตว์เหยื่อของแมวปัมปัสลดจำนวนลงไปก็เป็นปัญหาเช่นกันในอาร์เจนตินาเคยถูกล่าอย่างหนักเพื่อการค้าขนสัตว์ มีบันทึกว่าระหว่างปี 2519-2522 มีหนังแมวปัมปัสถูกส่งออกนอกประเทศมากถึง 78,000 ผืน อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2530 การค้าขนสัตว์ไม่ใช่ภัยใหญ่ของแมวชนิดนี้อีกต่อไป
สถานภาพ
แม้จะพื้นที่กระจายพันธุ์ในบราซิลกว้าง แต่กลับมีรายงานพบเห็นน้อย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะแมวปัมปัสรูปร่างคล้ายแมวบ้านในบางพื้นที่ก็เป็นได้ จึงไม่ใคร่ใครใส่ใจ จากการสำรวจที่อุทยานแห่งชาติอีมัสด้วยกล้องกับดักในปี 2551 พบว่าค่อนข้างพบได้บ่อย ประเมินได้ว่าความหนาแน่นประชากรตัวเต็มวัยอยู่ในช่วง 2-10 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ไอยูซีเอ็นจัดว่ายังอยู่ในระดับใกล้ถูกคุกคาม (2551) ไซเตสจัดแมวปัมปัสไว้ในบัญชีหมายเลข 2
ประเทศที่ห้ามล่า
อาร์เจนตินา โบลิเวีย ชิลี ปารากวัย
ประเทศที่ควบคุมการล่า
เปรู
ไม่มีการคุ้มครอง
บราซิล เอกวาดอร์
ไม่มีข้อมูล
อุรุกวัย
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.iucnredlist.org/apps/redlist/details/15309/0
- Mel and Fiona Sunquist. [i]Wild Cats of the World[/i]: The University of Chicago Press, 1988
- http://www.canuck.com/iseccan/pampas.html
- http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/pampas.htm
- http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/accounts/information/Leopardus_colocolo.html
- http://www.catsg.org/catsgportal/cat-website/catfolk/pampas01.htm
- http://lynx.uio.no/catfolk/pampas01.htm
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 17 ก.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 10 ต.ค. 66