จับพรานค่าง เผยเอาไปทำเมนูวิตถาร “ส้มค่าง, ร้าค่าง”
จับพรานค่าง เผยเอาไปทำเมนูวิตถาร “ส้มค่าง, ร้าค่าง”
6 มิ.ย. 2552
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวกรณีหน่วยลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งสามารถจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยสามารถยึดของกลางเป็น ค่าง 2 ตัวพร้อมเนื้อค่างและกระดูกสับละเอียดรวมจำนวน 21 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการสอบสวน พบว่าเนื้อค่างดังกล่าวกำลังจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อทำเป็น ส้มค่าง และ ร้าค่าง สำหรับการบริโภคเป็นอาหารนิยมรับประทานในกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงหนือที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งด้านตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ.ลานสัก อ.ห้วยคด และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ.แม่วงก์ กิ่ง อ.แม่เปิน และ กิ่ง อ.ชุมตาวงศ์ จ.นครสวรรค์ ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าว นับว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการคุกคามสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะค่างแว่นถิ่นเหนือที่อาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยการส่งชุดลาดตระเวนเข้ากดดัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการล่าสัตว์และกระทำผิดกฎหมายอื่น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้จีพีเอส หรือทำระบบฐานข้อมูลการลาดตระเวน ทำให้แนวโน้มการล่าสัตว์ป่าลดลง การกระทำผิดส่วนใหญ่จะพบบริเวณชายขอบป่าของพื้นที่เท่านั้น โดยจากสถิติพบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551- พฤษภาคม 2552 มีจำนวนคดีด้านสัตว์ป่า 236 คดี สามารถช่วยเหลือสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ได้ 4,026 ตัว ส่วนใหญ่เป็นนก และลิ่นหรือนิ่ม ซึ่งตัวลิ่นที่จับได้จะเป็นการลำเลียงส่งผ่านไปประเทศจีนเพื่อนำไปบริโภคตามความเชื่อ

“ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการบริโภคสัตว์ป่าอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะคิดว่าเป็นยาบำรุง ซึ่งในกรณีของค่างนี้ จะพบอยู่ในบางพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่มีค่างแว่นถิ่นเหนืออยู่จำนวนมาก นอกจากที่จะคิดว่าเป็นยาบำรุง รักษาโรคแล้ว ยังเป็นอาหารท้องถิ่นที่ยังมีรับประทานกันอยู่ การนำเนื้อค่างมาทำเป็น ส้ม แหนม หรือไม่ก็นำไปทำเป็นร้าค่าง แบบเดียวกับปลาร้าด้วย ซึ่งเมนูนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมา แต่ทำกันมานานแล้ว ซึ่งหากไปดูตามตลาดเช้า จะพบว่ามีการวางขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท และนอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มีคนเคยพบว่ามีการนำเนื้อหมีมาทำเป็น ส้มหมี หรือ หมีร้าด้วย แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยพบ เพราะถ้าพบก็จะต้องจับกุมทันที” นายเกษมสันต์กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวว่า ในขณะนี้นอกจากการออกลาดตระเวน จับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว ยังจัดให้เจ้าหน้าที่เข้าทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ให้แก่ประชาชนกลุ่มที่นิยมนำค่างมาทำเป็นอาหารแล้ว ว่า การรับประทานเนื้อสัตว์ป่า หรือ ค่าง ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะทำให้เกิดอันตรายด้วย เพราะในเนื้อค่าง มีเชื้อโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเชื้อโรคกลุ่มไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคเริม โรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย และที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตมาแล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัด ว่าเกิดจากการรับประทานเนื้อค่างก็ตาม แต่จำนวนคน และสถิติการเป็นโรคต่างๆ ของคนในพื้นที่ก็น่าจะทำให้เชื่อได้ว่า การบริโภคค่าง อาจจะมีส่วนในการเสียชีวิตดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลัวหรือไม่ว่าการออกมาเปิดเผยเมนู “แหนมค่าง แหนมหมี” ดังกล่าวจะทำให้เกิดกระแสอยากลองของนักเปิบพิสดารทำให้เกิดใบสั่งการทำอาหารเมนูนี้มากขึ้น นายเกษมสันต์กล่าวว่า ตนคิดว่าคงไม่มี ถ้าจะมีก็เป็นพวกวิตถารเท่านั้น เพราะโดยปกติแล้วคนทั่วไปคงไม่คิดอยากจะกินสัตว์ป่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากการทำอาหารพวกนี้จะต้องเอาสัตว์ป่ามาฆ่า ลอกหนังออกหมด จนได้เนื้อ และเลือดสดๆ ซึ่งดูแล้วน่าสงสารมากกว่าที่อยากจะรับประทานเป็นอาหาร และการออกมาเปิดเผยเมนูนี้ ก็ไม่ใช่การเปิดเผยเมนูใหม่ แต่เป็นอาหารที่คนกลุ่มหนึ่งนิยมรับประทานและมีมานานแล้ว แต่ในกระบวนการก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้วไม่ว่าคนล่า หรือคนกินถ้าหากจับได้ก็ต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อย่างเข้มงวด “จุดประสงค์สำคัญของเราที่ออกมาแถลงข่าวเรื่องนี้ เพราะต้องการชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงอันตรายของการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า และส้มค่าง หรือ ส้มหมี ก็หนึ่งในอีกหลายเมนูสัตว์ป่าที่ถือว่าผิดกฎหมายและอยากรณรงค์ให้กลุ่มที่ยังชอบบริโภคเมนูสัตว์ป่าเหล่านี้ เปลี่ยนค่านิยมใหม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ได้เป็นผลดีอย่างที่คิดกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่เราไม่รู้ว่า เชื้อโรคอะไรที่ติดมากับสัตว์ป่าพวกนี้บ้าง แทนที่จะอายุยืน ก็อาจจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วกว่าเดิม หรือ อาจจะมีสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง แทนที่จะปึ๋งปั๋งกว่าเดิมก็เป็นได้” นายเกษมสันต์
ในวันถัดมา นายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติแห่งประเทศไทย นักวิชาการสัตว์ป่า กล่าวถึงกรณีข่าวความนิยมในการบริโภคเนื้อค่าง โดยนำมาทำเป็น ส้ม แหนม หรือ ร้า ว่า เรื่องความนิยมในการบริโภคค่างของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนั้น มีมานานมากแล้ว โดยจะมีกลุ่มคนล่าค่างเหล่านี้และนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ เลือด หรืออวัยวะต่างๆ โดยนำไปรับประทานตามร้านอาหารป่าที่มีอยู่ในเขตใกล้พื้นที่ป่า อย่างที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ก็พบว่ามีอยู่หลายร้าน แต่ก็ไม่เคยเห็นว่ามีการเอาเนื้อค่างมาทำเป็นเมนู ส้มค่าง หรือแหนมค่าง เพิ่งจะทราบว่ามีเมนูนี้ด้วย เชื่อว่า การใช้ดัดแปลงเนื้อค่างมาทำอาหารประเภทนี้น่าจะเป็นการหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ หรือทำให้ง่ายต่อการลำเลียงเอาออกมาขายตามร้านค้ามากกว่า เนื่องจากในการทำจะต้องสับเนื้อและกระดูกจนละเอียด สามารถนำไปเก็บไว้ในภาชนะใดก็ได้ เมื่อเก็บแล้วก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นเนื้ออะไร แตกต่างกับในอดีตที่การนำสัตว์ป่าออกจากป่า ผู้ล่าจะใช้วิธีนำสัตว์เนื้อสัตว์ไปเผา ลอกหนัง จากนั้นจึงแล่เนื้อผิงกับไฟร้อนๆ จนกลายเป็นเนื้อเค็มก่อนที่จะนำออกมา แต่ในปัจจุบัน จากการกดดันของเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด การสับเนื้อ จึงเป็นวิธีที่ง่ายเพียงแค่สับแล้วใส่ถุงออกมานอกจากจะรวดเร็วประหยัดเวลา แล้ว ยังง่ายต่อการลำเลียงอีกด้วย
“ผมเคยเห็นซากค่างพวกนี้เหมือนกันวิธีการคือเมื่อล่าแล้วก็จะนำไปเผา จากนั้นจึงถลกหนังออก ก็จะทำให้มองไม่เห็นขนของมันแต่จะมองเห็นเนื้อสีแดงๆ แทน มีนิ้ว มีหัว ลักษณะเหมือนเด็กทารกตัวแดงๆ น่าสงสารมาก จากนั้นเขาก็จะเอาไปแล่เนื้อ และอวัยวะอื่นๆ เพื่อนำไปทำประโยชน์หรือส่งขายตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารป่าในพื้นที่หาได้ไม่ยากนักในสมัยก่อน” นายสุรพล กล่าว
นายสุรพลกล่าวต่อว่า เชื่อว่าผู้ที่บริโภคเนื้อค่างไม่ใช่กลุ่มชาวบ้านในท้องถิ่นตามที่เข้าใจกันเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนเมืองอื่นๆ ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้นิยมบริโภคกันอยู่ โดยจะใช้วิธีการสั่งซื้อผ่านนายหน้า หรือพวกเถ้าแก่ที่มีอิทธิพลในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปล่าออกมาให้ หรืออาจจะไปหาได้ตามร้านขายอาหารป่าในแถบใกล้เคียงตามที่กล่าวมาแล้วซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
“แม้ว่าจะทราบกันอยู่ว่าตามร้านอาหารป่าก็สามารถหาอาหารเมนูสัตว์ป่าพวกนี้ได้แต่อาจจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ มีน้อยก็เลยทำให้ไม่สามารถตามจับพวกนี้ได้อย่างจริงจังเลยทำให้ยังมีการล่ากันอยู่ นอกจากนี้ก็ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่บางส่วนสมรู้ร่วมคิดและล่าสัตว์เองก็มีเพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า เจ้าที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับเงินเดือน เงินเดือนไม่ออกตรงตามเวลา ทำให้ต้องทำเพื่อความอยู่รอด” นายสุรพลกล่าว

“ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีความเชื่อผิดๆ
อธิบดีกรมอุทยานฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า

“ผมเคยเห็นซากค่างพวกนี้เหมือนกัน
นายสุรพลกล่าวต่อว่า
“แม้ว่าจะทราบกันอยู่ว่าตามร้านอาหารป่าก็สามารถหาอาหารเมนูสัตว์ป่าพวกนี้ได้
ที่มา
- ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
