เหนือ-อีสานยังแชมป์ค้า-ลำเลียงสัตว์ป่า

เหนือ-อีสานยังแชมป์ค้า-ลำเลียงสัตว์ป่า

ทส. เร่งเชื่อมแก่งกระจาน-กุยบุรีขยายบ้านสัตว์

26 พ.ค. 2552

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในการเปิดโครงการศึกษาสำรวจข้อมูลชนิดพันธุ์และปริมาณการค้าสัตว์ป่า และพืชป่าระหว่างประเทศและสร้างเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายว่า การป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า มีความสำคัญมาก เพราะการทำลายสัตว์และพืชป่า เป็นการทำลายวงจรชีวิตธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ประชาชน ที่ผ่านมา ทส. ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า โดยในปีงบประมาณ 2552 สามารถจับกุมผู้ค้าสัตว์ป่าได้ถึง 200 กว่าคดี มูลค่าถึง 400-500 ล้านบาท สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่มีการลักลอบค้าคือเสือและตัวนิ่ม นอกนั้นก็มีพวกซากสัตว์ป่าและพืชป่า โดยเฉพาะกล้วยไม้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทส. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายหรือ Thailand-WEN เพื่อสำรวจตลาดการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามแนวชายแดนทั่วทุกภาคของประเทศและการสร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งเครือข่ายได้ 250 คนและจะขยายออกไปทั่วประเทศ เพราะ มองว่าการสร้างรั้วคนหรือการมีส่วนของประชาชนสำคัญที่สุด
นายสุวิทย์กล่าวว่า ทส. ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาหรือเอดีบีและธนาคารโลก ให้ดำเนินโครงการรวบรวมผืนป่าตะวันตกตั้งแต่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี  แก่งกระจาน จ.เพชรบุรีและกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าผืนเดียวกัน ซึ่งจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นประมาณหมื่นกว่าไร่ เพื่อทำให้วงจรชีวิตของสัตว์ป่าและพืชป่าอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังประสานกับกองทัพบก เพราะผืนป่าบางช่วงปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานทหารของกองทัพบก แต่ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าสำเร็จก็จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน-กุยบุรีต่อไป
นายตรีรัช ภูคชสารศีล หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) กล่าวว่า WWF ได้สำรวจตลาดการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2552 ภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูนและตาก พบว่า มีการลักลอบค้าพืชป่า จำพวกกล้วยไม้ป่ามากที่สุด โดยเฉพาะกล้วยไม้หายาก คือ รองเท้านารี และ สีดา ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ส่วนตลาดค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ คือ ตลาดคำเที่ยง อ.เมือง จ.เชียงใหม่  นอกจากนั้นเส้นทางระหว่าง จ.ลำปางกับลำพูนมีการค้าสัตว์ป่าเป็นระยะๆ จำนวนมาก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สำรวจ จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหารและอุบลราชธานี ซึ่งมีด่านชายแดนกว่า 30 แห่ง พบว่า จ.มุกดาหาร เป็นตลาดค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุด  มีพวก เก้ง กวาง อีเห็นและกระรอกบิน ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่มาจากประเทศลาว โดยมีพ่อค้าคนไทยไปรับมาจำหน่าย ภาคตะวันออก สำรวจ จ.สระแก้ว จันทบุรี ตราด พบว่า จ.สระแก้ว บริเวณตลาดโรงเกลือ เป็นแหล่งค้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อาทิ เขากวาง เขากูปรี รวมทั้งงาช้าง เป็นต้น  ส่วนภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์ พบว่า ที่ อ.สังขบุรี จ.กาญจนบุรี  มีการค้ากล้วยไม้ป่ามาก 

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai