กรมอุทยานขึ้นทะเบียนเสือวัดหลวงตาบัว
กรมอุทยานขึ้นทะเบียนเสือวัดหลวงตาบัว
19 ม.ค. 2552
วันที่ 15 มกราคม นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.นครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการร้องเรียนกรณีวัดป่าหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน ที่จ.กาญจนบุรี ที่เลี้ยงเสือโคร่งจำนวน 30 ตัวโดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และบริจาคเงินเพื่อสร้างบ้านให้เสือนั้น ขณะนี้กรมอุทยานฯได้เข้าไปตรวจสอบเสือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเสือในฟาร์มเลี้ยงเป็นแห่งแรก โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือน กันยายน 2551 เพื่อติดตามที่มาของเสือ และได้รับรายละเอียดว่าเป็นเสือที่ได้รับจากการบริจาค และการรับซื้อมาบางส่วน ซึ่งประเด็นนี้กรมอุทยานฯจะไม่ขุดคุ้ยที่มาของเสือดังกล่าว แต่จากนี้ไปจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเสือทั้งหมดให้ถูกต้องตามกฎ หมายตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขณะนี้ได้เก็บประวัติ พร้อมทั้งถ่ายรูป และใช้ลายของเสือในการจำแนก เนื่องจากเสือแต่ละตัวจะมีลายพาดกลอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเสือแต่ละตัว อีกทั้งยังเตรียมจะทำทะเบียนดีเอ็นเอของเสือแต่ละตัวไว้ด้วย เพื่อควบคุมการลักลอบการนำเสือออกจากป่า และนำไปชำแหละเพื่อการค้า
นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวอีกว่า กรมอุทยานฯจะนำร่องการทำฐานข้อมูลเสือที่วัดหลวงตาบัว เป็นแห่งแรก และในปีนี้เตรียมจะขยายไป ที่สวนเสือศรีราชา จ.ชลบุรี และฟาร์มเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบมีฟาร์มเสือจำนวนเท่าไร ขณะเดียวกันในส่วนของวัด ป่าหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน ได้มีการทำความเข้าใจกับทางวัดว่าไม่สามารถเสือดังกล่าวปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ แต่จะมีการจัดการและเลี้ยงดูเสืออย่างไร ทั้งในแง่ของความถูกต้องตามกฎหมาย ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง โดยจะมีการติดตามเป็นระยะๆทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี

“ปัจจุบันสถานการณ์เสือโคร่งทั่วโลกในภาวะน่าเป็นห่วงมีจำนวนลดลงอย่างมากแต่จากการศึกษาวิจัยพบปริมาณเสือของไทยมีมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากอินเดีย และเนปาล โดยเฉพาะที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีไม่ต่ำกว่า 80 ตัว รองลงมาที่แก่งกระจาน ราว 20 ตัว และป่าฮาลาบาลาอีก 5 ตัวเท่านั้น” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
ด้านนายอธิธัศ ศรีมณี ผู้จัดการมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า วัดหลวงตาบัว ได้ประสานกับกรมอุทยานฯ เพื่อดูแลเสือในวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตามขั้นตอนการดูแลสัตว์ ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลเสือ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นกรมอุทยานฯจะเข้ามาดูแลเสือให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาได้พูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเสือ รวมทั้งวิธีการดูแลเสือเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าเสือที่วัดดูแลครอบครองอยู่ส่วนใหญ่เป็นเสือที่ได้รับการบริจาคมาในอดีตมีเพียง 10 ตัวกว่า แต่เมื่อมีการผสมพันธุ์จนออกลูกมาแล้วขณะนี้ทำให้มีเสือในวัดถึง 35 ตัว อย่างไรก็ตาม เดิมทางวัดตั้งใจจะดูแลเสือ แล้วค่อยปล่อยสู่ป่าเหมือนเดิม แต่เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ทำให้ทราบว่าเสือเลี้ยงจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนกับเสือป่า หากปล่อยเข้าป่าก็น่าจะตาย เพราะไม่รู้จักการหาอารหารกินเอง รวมถึงการถูกล่าด้วย ทำให้วัดได้ซื้อพื้นที่เพิ่มเติมอีก 3,000 ไร่ เพื่อเป็นที่อยู่ของเสือให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยวัดจะร่วมกรมอุทยานฯจะดูแลเสือร่วมกัน ส่วนการผสมพันธุ์ของเสือตามธรรมชาตินั้น กำลังหารือกับกรมอุทยานฯเพื่อควบคุมประชากรเสือด้วย
นายชัชวาลย์พิศดำขำ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังจากที่กรมอุทยานฯได้เสนออนุญาติให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเชิงพานิชย์ได้นั้น เบื้องต้นได้รับความเห็นชอบ จากนายอุภัย วายุพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ประกาศบัญชี และประเมินราคาซื้อขายพ่อแม่พันธุ์สัตว์ป่า 4-5 รายการแล้ว โดยเฉพาะไก่ฟ้า นก เนื่องจากมีความพร้อมและมีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อความสวยงามเป็นหลัก ไม่เน้นการนำไปส่งเสริมเพื่อกินเนื้อ ส่วนปัญหาการชำแหละเสือโคร่ง จากชายแดนไทยทางภาคใต้ที่จับได้เมื่อช่วงต้นปีใหม่นั้น ขณะนี้มีข้อมูลเชิงลึกพอที่จะทำให้ทราบเบาะแสแหล่งที่มาของเสือที่ถูกฆ่าแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับรูปคดี
นายศักดิ์สิทธิ์

“ปัจจุบันสถานการณ์เสือโคร่งทั่วโลกในภาวะน่าเป็นห่วงมีจำนวนลดลงอย่างมาก
ด้าน
นายชัชวาลย์
ที่มา
- ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
