แมงกะพรุนกล่องระบาดเข้าเกาะพีพี นักท่องเที่ยวเจ็บเพียบ

แมงกะพรุนกล่องระบาดเข้าเกาะพีพี นักท่องเที่ยวเจ็บเพียบ

5 พ.ย. 2551

วันที่ พฤศจิกายน นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทช.ได้ทำหนังสือด่วน เพื่อเตือนเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ ว่า ขณะนี้มีแมงกะพรุนกล่อง หรือ Box Jellyfish ที่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวที่ลงไปดำน้ำเล่น ได้ระบาดเข้าไปในเกาะพีพีแล้ว ล่าสุดพบว่ามีนักท่องเที่ยวโดนพิษต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลกระบี่และสถานีอนามัยเกาะพีพี จำนวนมาก 
"เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องถือเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษอันตรายมาก  พิษจะเข้าไปโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง ทำให้หัวใจล้มเหลว และสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เพราะมีเข็มพิษกว่าล้านเซลล์ตามหนวดที่ยืดออกมาได้ไกล 2-3 เมตร  และด้วยลักษณะตัวของมันที่ค่อนข้างใส ทำให้มองเห็นยาก จนกว่าจะถูกประชิดตัวแบบจังๆ  นอกจากนี้มันยังมีความพิเศษเพราะมันมีดวงตา และเข้าหาอาหารเองได้จากปกติแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ จะลอยไปตามกระแสน้ำ  นอกจากนี้วงจรชีวิตของมันยังเกี่ยวข้องกับพื้นที่นำกร่อย ป่าชายเลน จึงสามารถเจอแมงกะพรุนกล่องตั้งแต่ขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน 3-4 ซม. และตัวเต็มวัยขนาดเท่าฝ่ามือ" นายวรรณเกียรติ กล่าว   
นายวรรณเกียรติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทช. เคยทำหนังสือเตือนเรื่องแมงกะพรุนตัวนี้ไปแล้ว แต่ในขณะนั้นพบที่อ่าวน้ำบ่อ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำกร่อย แมงกะพรุนกล่องที่พบจะเป็นตัวอ่อน ทั้งนี้ปกติแล้วแมงกะพรุนทั่วไปจะเคลื่อนไหวโดยใช้กระแสน้ำ แต่แมงกะพรุนกล่องจะมีลักษณะพิเศษคือ สามารถเคลื่อนไหวเองได้ เพราะมีตา คาดว่าเป็นเพราะบริเวณดังกล่าวมีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงเคลื่อนที่ตามแหล่งอาหารและไปเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่เกาะพีพี
นายวรรณเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีรายงานว่ามีแมงกะพรุนชนิดนี้ระบาด มาก่อนแต่ในช่วง ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการระบาดของแมงกะพรุนกล่องในเขตอันดามันมากขึ้นเรื่อยๆ ยังหาสาเหตุที่ชัดไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร สถาบันฯ ภูเก็ตร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่จะนำเอาแมงกะพรุนชนิดนี้มาเพาะเลี้ยง เพื่อศึกษาวงจรชีวิตอย่างละเอียด เพื่อหาวิธีการผลิตยาแก้พิษ เพราะปัจจุบันรักษาพิษกันตามอาการเท่านั้น ส่วนการแก้พิษเบื้องต้น ทำได้โดยการใช้น้ำมันสายชู และน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียลขึ้นไปล้างบริเวณที่โดนพิษ โดยและห้ามใช้น้ำเย็นโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายรวดเร็วขึ้น จากนั้นก็รีบไปพบแพทย์ทันที

แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจะสร้างพิษอันทรงพลังอย่างน่าสะพรึงกลัวเพื่อให้เหยื่อ เช่น ปลา หรือ กุ้งหมดสติหรือเสียชีวิตทันทีเพื่อไม่ให้การดิ้นรนหลบหนีของเหยื่อสร้างความเสียหายให้กับหนวดที่แสนบอบบางของมัน  
พิษของแมงกะพรุนกล่องถือว่าเป็นหนึ่งในพิษที่เป็นอันตรายที่สุดในโลกซึ่งมีพิษในการโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง พิษนี้จะสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส มีรายงานว่าเหยื่อที่เป็นมนุษย์จะเกิดอาการช็อคและจมน้ำหรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนที่จะขึ้นถึงฝั่งด้วยซ้ำ ผู้รอดชีวิตจะมีอาการเจ็บปวดอยู่หลายสัปดาห์และมักจะมีความหวาดผวาอย่างมากในบริเวณที่สัมผัสกับหนวดแมงกะพรุน  
แมงกะพรุนกล่องมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวต่อทะเล หรือนักพ่นพิษแห่งท้องทะเล มักอาศัยอยู่ในน้ำตามแนวชายฝั่งของออสเตรเลียตอนเหนือและทั่วอินโดแปซิฟิก มีสีฟ้าอ่อน โปร่งใส และได้ชื่อนี้มาจากรูปร่างที่เหมือนลูกบาศก์  มีหนวดมากถึง 15 เส้นที่งอกออกมาจากแต่ละมุมของช่วงตัวและสามารถยืดยาวได้ถึง 10 ฟุต (3 เมตร) หนวดแต่ละเส้นจะมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ซึ่งไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยการสัมผัสแต่โดยการพบสารเคมีจากชั้นผิวภาพนอกของเหยื่อ 
แมงกะพรุนกล่องเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาอย่างก้าวไกลกว่าแมงกะพรุนทั่วไป ด้วยการพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนที่มากกว่าการล่องลอยโดยการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วถึงสี่น็อตท่ามกลางทะเล แมงกะพรุนกล่องมีดวงตาเกาะกลุ่มกันหกกลุ่มอยู่บนทั้งสี่ด้านของลำตัว แต่ละกลุ่มจะมีดวงตาหนึ่งคู่ซึ่งมีเลนส์ตา เรตินา ตาดำและแก้วตาที่มีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าจะไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าแมงกะพรุนพวกนี้มีกระบวนการในการมองเห็นอย่างไร 
Powered by Wimut Wasalai